วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2555

การปฏิบัติทำให้จิตใจมีความสงบ มีพลังในการดำเนินชีวิต ช่วยยกสภาวะจิตใจให้สูงขึ้น

1.มีความเมตตากรุณา

การมีความเมตตากรุณาในที่นี้คือ ความพยายามสร้างความเมตตาให้เกิดขึ้นทั้งทางกาย วาจา และทางใจ โดยจะต้องตั้งอยู่บนความพอดี เมื่อให้ความช่วยเหลือผู้อื่นแล้วตัวเราจะต้องไม่เดือดร้อน อานิสงส์ของการมีความเมตตากรุณาคือ หน้าตาเปล่งปลั่ง ผ่องใส มีโชคลาภ วาสนาและบารมี ปราศจากศัตรูและผู้ปองร้าย เทพเทวดาจะแซ่ซ้องสรรเสริญ ไปที่ไหนมีแต่คนรักใคร่ให้ความเมตตา
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสสอนว่า การให้ทานมีสาเหตุและก่อให้เกิดอานิสงส์ 5 ประการ
                ดังนี้
1)       การให้ด้วยความศรัทธา มีอานิสงส์คือ ทำให้มีผิวพรรณผ่องใส บุคลิกและหน้าตางดงาม
2)       การให้ด้วยความเคารพ มีอานิสงส์คือ บุคคลรอบข้างเช่น สามี ภรรยา บุตร และลูกน้อง จะรัก เคารพ และเชื่อฟัง
3)       การให้ในเวลาที่เหมาะสม มีอานิสงส์คือ โชคลาภต่าง ๆ จะบังเกิดกับเราในเวลาที่เหมาะสม
4)       การให้ด้วยความเมตตาสงสาร มีอานิสงส์คือ ได้สัมผัสและพบเจอแต่สิ่งที่เจริญหูเจริญตา
5)       การให้ด้วยความเต็มใจ ปราศจากการดูถูกดูแคลน หรือไม่มีการให้แบบ “ขอไปที” มีอานิสงส์คือ ทรัพย์สมบัติทั้งหลายจะคงอยู่ตลอดกาล

นอกจากอานิสงส์ดังกล่าวแล้ว “การให้” ทั้ง 5 สาเหตุยังส่งผลให้บังเกิดความมั่งคั่งร่ำรวยตามมาอีกด้วย
ความเมตตากรุณาที่มีอานิสงส์สูงสุดคือ การให้สิ่งที่ควรให้ แก่บุคคลที่ควรรับ ในเวลาที่เหมาะสมโดยไม่คำนึงว่า ใครเป็นผู้ให้ และใครเป็นผู้รับ การให้จะต้องไม่มีเงื่อนไขและไม่มีการเลือกปฏิบัติ และไม่ควรจำกัดขอบเขตอยู่ในกลุ่มญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูง หรือกลุ่มคนที่เรารู้จัก  นอกจากนั้น การให้ในที่นี้ มิได้หมายถึงการให้วัตถุสิ่งของเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการให้ความรู้ ให้รอยยิ้ม น้ำใจ กำลังใจ หรือความช่วยเหลืออีกด้วย และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อให้แล้ว ให้หันหลัง และลืมสิ่งเหล่านั้นไปเสีย ไม่ต้องภูมิใจในความดีของตน ไม่ต้องรอคอยให้อีกฝ่ายรู้ซึ้งถึงบุญคุณของเรา และไม่ต้องตั้งตาคอยว่าเมื่อไรผลบุญดังกล่าวจะบังเกิดผล เพราะการให้เช่นนี้ถือว่าเป็นการให้ที่หวังผลตอบแทน นอกจากจะไม่เกิดผลบุญแล้วอาจจะเป็นการเพิ่มตัวกูของกูในจิตใจ ซึ่งเรียกว่าเป็นการเมตตากรุณาที่ผิดวิธี

2.พึง ตระหนักเสมอว่า สรรพสิ่งในโลกนี้ ล้วนเป็นเพียงโลกสมมติ อย่าไปยึดมั่นถือมั่นอะไรมากนัก แต่เราจะพยายามทำสิ่งต่าง ๆ ให้ดีที่สุดในแต่ละวัน และพยามยามแบ่งปันช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอกว่า

ในที่นี้คือ การที่เราสามารถอาศัยอยู่บนโลกและทำหน้าที่ตามที่โลกสมมติกำหนดมาได้อย่างดี ที่สุด โดยที่จิตใจจะต้องไม่เป็นทุกข์ เศร้าหมอง หรือไม่รุ่มร้อน ไปกับความโกรธเกลียดอาฆาตแค้น ความทะยานอยาก ความโลภโมโทสัน ความเบื่อหน่ายเซ็งชีวิต ความเคร่งเครียดเป็นกังวล ความฟุ้งซ่านสับสน และความลังเลสงสัยไม่แน่ใจในชีวิต

3.ทำใจให้โล่งโปร่งสบายในทุกสภาวะ

พยายามทำจิตใจให้ผ่องใสเยือกเย็นดั่งน้ำในลำธาร จิตใจจะต้องสงบและผ่องใส ความสงบเกิดจากการที่จิตมีสมาธิ ไม่ฟุ้งซ่าน และความผ่องใสมาจากปัญญา ซึ่งในที่นี้หมายถึง การเตรียมจิตใจให้รับได้ในทุกสภาวะได้แก่ ความสมหวังและความผิดหวัง ความสุขและความทุกข์ คำสรรเสริญและคำนินทา การได้รับและการสูญเสีย เป็นต้น

4.หายใจลึก ๆ อย่างสม่ำเสมอ

ความทุกข์ของมนุษย์มีสาเหตุมาจากความคิดที่เป็นอกุศล ฉะนั้น ถ้าอยากมีความสุขก็ต้องหยุดความคิด แต่การจะหยุดความคิดได้ จิตต้องมีกำลังในระดับหนึ่งก่อน การสร้างจิตให้มีพลังทำได้โดยการหายใจลึก ๆ และจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออก หรือเรียกว่าอานาปาณสติ ซึ่งเป็นกรรมฐานเพียงกองเดียวที่จะป้องกันความฟุ้งซ่านได้ ในทางกลับกัน เมื่อเราหยุดความคิดอันเป็นอกุศลได้แล้ว ก็ให้เพียรพยายามคิดแต่สิ่งที่ดีและมีประโยชน์ และไม่หวนกลับไปคิดสิ่งที่เป็นอกุศลอีก จึ่งจะเป็นการหยุดความทุกข์และสร้างความสุขอย่างแท้จริง

5.พูด จาให้สุภาพ นุ่มนวล ชัดถ้อยชัดคำ ได้จังหวะจะโคน น่าชวนฟัง พูดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ฟังแล้วสบายใจ มีความหวัง และมีกำลังใจ

เวลาพูดให้มีสติ ค่อย ๆ พูด และให้ระมัดระวังน้ำเสียง เพราะน้ำเสียงสามารถสะท้อนสภาวะจิตใจของผู้พูดออกมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในตอนที่เราจะต้องพูดกับคนที่เราไม่ชอบหน้า หรือคนที่เคยทะเลาะเบาะแว้งกันมาก่อน และจำเป็นจะต้องพบปะเจอะเจอกันอยู่เป็นประจำ เจอกันเมื่อไรเป็นต้องได้มีการปะทะคารมกันอยู่ร่ำไป จิตใจรุ่มร้อนไปด้วยความโกรธแค้นและขุ่นเคือง หาความสุขมิได้ ฉะนั้น วิธีนี้จะเป็นวิธีที่จะช่วยป้องกันการทะเลาะเบาะแว้งได้เป็นอย่างดี เพราะในขณะที่เราพยายามพูดจาให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จิตใจของเราจะจดจ่อกับคำพูดและน้ำเสียง จนทำให้ลืมเรื่องที่บาดหมางในอดีตไปได้ในชั่วเวลาหนึ่ง เมื่ออีกฝ่ายได้สัมผัสถึงกิริยาที่เป็นมิตรจากเรา  เขาจะรู้สึกประหลาดใจ และจะหันมาสนใจฟังในสิ่งที่เราพูด

6.ฝึกความรู้สึกทั่วทั้งสรรพางค์กายและความรู้เนื้อรู้ตัวในทุก ๆ อิริยาบถ

ฝึกความรู้เนื้อรู้ตัวให้ละเอียดและต่อเนื่องให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็น ไปได้ เพราะการเอาจิตใจไปจดจ่ออยู่ที่การเคลื่อนไหวของร่างกายจะเป็นการเปลี่ยนที่ ยึดเกาะของจิต จากเกาะที่ความคิดมาเป็นเกาะที่กายแทน  เมื่อนั้นจิตจึงจะหยุดคิดได้ จิตจึงได้พัก ความฟุ้งซ่าน ความเครียด ความเศร้าหมองใจจะน้อยลง จิตจึงมีกำลังเพิ่มขึ้น มีความสงบและเบาสบายตามมา นอกจากเอาจิตไปเกาะที่ฐานกายแล้ว ให้หัดเคลื่อนจิตไปเกาะที่ฐานอารมณ์โดยการมองอารมณ์ของตนเองตลอดเวลาว่า ขณะนี้เรารู้สึกอย่างไร สุข ทุกข์ หรือเฉย ๆ  เมื่อจิตใจเริ่มเกิดความทุกข์ให้พิจารณาต่อว่าทุกข์ด้วยสาเหตุใด เช่น ความโลภโมโทสัน อยากได้สิ่งใดในเวลาที่ไม่เหมาะสม ความอยากได้อยากมีอยากเป็น ความไม่อยากได้ไม่อยากมีไม่อยากเป็น ความอิจฉาริษยา ความโกรธเกลียดอาฆาตแค้น ความลังเลสงสัย ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ และความซึมเศร้าง่วงเหงาหาวนอน เป็นต้น หลังจากนั้น ให้พิจารณาข้อธรรมบางประการเพื่อให้จิตใจเกิดการลดลงวางตัวกูของกู เช่น เราอยู่ในโลกนี้อย่างมากก็ไม่เกินร้อยปี จะต่อสู้แย่งชิงให้มันทุกข์ใจกันไปทำไม ทุกข์สมุทัยนิโรธมรรคนี่เป็นความจริงแห่งสังสาระ หรือโลกนี้เป็นเพียงโลกสมมติจะเอาอะไรกันนักอะไรกันหนาทำใจให้มันสบายดีกว่า เป็นต้น

7.ฝึกควบคุมความคิด

เลือกคิดแต่สิ่งที่มีประโยชน์และมีความสุข การจะควบคุมความคิดได้จะต้องเริ่มจากการรู้จักหยุดความคิดที่ฟุ้งซ่านเสีย ก่อน ซึ่งอาจจะทำได้ด้วยวิธีการกำหนดลมหายใจ หรือการใช้สัจจธรรมบางประการเพื่อให้จิตใจเกิดการปล่อยวาง เช่น การอยู่ไม่นานก็ต้องจากโลกนี้ไปแล้ว ขณะที่มีชีวิตอยู่เราจะทำตัวให้เป็นประโยชน์แก่สังคมได้อย่างไร เป็นต้น การระลึกถึงความตายว่า เป็นของไม่เที่ยง จะช่วยทำลายความเป็นตัวกูของกูได้เป็นอย่างดี และเป็นการตั้งอยู่ในความไม่ประมาท  อย่างไรก็ดี การระลึกถึงความตายนั้น ไม่เหมาะสมกับบุคคลที่เป็นโทสะจริต เพราะจะทำให้จิตใจมีความโหดร้ายและเกรี้ยวกราดมากยิ่งขึ้น ส่วนจริตอื่นสามารถพิจารณาถึงมรณานุสตินี้ได้หมด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น